ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ประกอบด้วย อวัยวะที่มีหน้าที่สร้างปัสสาวะและขับ(urine secretion) ได้แก่ ไต (kidney) , และท่อที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะ (Urinary passage) ออกสู่ภายนอก ได้แก่ หลอดไต (ureter), ที่พักปัสสาวะ ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder) และ ท่อที่นำปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่ ท่อปัสสาวะ (urethra) โดยอวัยวะดังกล่าวจะทำงานร่วมกันเพื่อทำหน้าที่กำจัดของเสีย และรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย
โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อยโรคนิ่วในไตและท่อไต (Ureteric and Kidney Stone) เป็นการตกตะกอนของสารต่างๆ ในปัสสาวะที่สะสมจนกลายเป็นก้อนแข็งเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ไตแล้วตกลงมาอยู่ในท่อไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ต่อจากไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับนิ่วออก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง
โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) หมายถึง การเกิดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะรวมถึงการติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงไต ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้ - โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD) หมายความว่าไตของท่านถูกทำลายและไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ และเป็นโรค “เรื้อรัง” เนื่องจากการทำลายที่ไตเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นระยะเวลานาน การทำลายนี้อาจทำให้เกิดของเสียสะสมในร่างกาย นอกจากนี้ โรคไตเรื้อรังยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และผู้ประวัติครอบครัวมีภาวะไตล้มเหลว หากบิดา มารดา มีภาวะไตล้มเหลว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว หากท่านเป็นโรคไต สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวเข้ารับการตรวจ
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) เกิดได้ 2 รูปแบบคือ เป็นนิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นนิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมดด้วยสาเหตุบางประการ เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะตีบตัน รวมถึงการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจนบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว โดยจะมีอาการขณะถ่ายปัสสาวะยังไม่ทันจะสุด สายปัสสาวะจะหยุดทันที ปวดหัวเหน่า ต้องเบ่งปัสสาวะมาก อาจมีเลือดออกเวลาปัสสาวะสุด
โรคมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะมะเร็งท่อไต (Cancer of Ureter) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์ด้วยปัสสาวะปนเลือด หรือปวดเอว ดังนั้นลําดับแรกเราจําเป็นต้องตรวจ lab ขั้นพื้นฐานก่อน เช่น การตรวจปัสสาวะ plain KUB อาจพบโรคต่างๆร่วมด้วยเช่น นิ่วทางเดินปัสสาวะ หากเราสงสัยสาเหตุของเลือดออกมาจากพยาธิสภาพของหลอดไตเรามีความจําเป็นจะต้องทําการตรวจเพิ่มเติม เช่น intravenous pyelography, retrograde pyelography (RP) สําหับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้สารทึบแสงได้ให้ทํา CT scan หรือ MRI
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยสุดในกลุ่มของมะเร็งทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้ป่วยสูงอายุเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 95% โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องปัสสาวะเป็นเลือด แพทย์จึงควรสอบถามประวัติและช่วงเวลาของการปัสสาวะแต่ครั้งเช่น มีเลือดปนช่วงต้นสาย ปลายสายหรือตลอดสายของปัสสาวะ ซึ่งแต่ละช่วงสามารถบอกตําแหน่งของโรคได้ และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย บางรายมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัดร่วมด้วย เราควรระมัดระวังถ้าผู้ป่วยสูงอายุมาด้วยเรื่องปัสสาวะมีเลือดปนจะต้องรีบทําการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
มะเร็งต่อมลูกหมาก ( Prostate cancer) ปัจจุบันยังไม่ทราบวาเหตุแน่ชัดว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าบางคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่อีกคนไม่เป็น แต่มีการศึกษาพบว่ามีองค์ประกอบบางอย่างที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ อายุที่พบจะพบในคนสูงอายุมากกว่า ประวัติครอบครัวหากมีพ่อ, พี่ชาย หรือน้องชาย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทําให้มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น และอาหาร ซึ่งมีการศึกษารายงานออกมาว่าการรับประทานอาหารจําพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์มากมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าการรับประทานอาหารจําพวกพืชผัก เป็นต้น
โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) โรคต่อมลูกหมากโต จะพบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้ามีชีวิตยืนยาวถึง 80-90 ปี ผู้ชายทุกคนในวัยนี้จะมีต่อมลูกหมากโตกันทั้งหมด แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตทุกคนจะมีอาการ บางคนมีอาการน้อยมาก เช่น ความแรงของปัสสาวะลดลงบ้าง แต่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ในขณะที่บางคนอาจอาการหนักถึงขั้นปัสสาวะไม่ออกได้ สำหรับอาการของโรคต่อมลูกหมากโตที่สำคัญมีอยู่ 7 อย่างคือ ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไหลไม่แรง เวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำรอไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้วรู้สึกไม่สุด ปัสสาวะไหลๆ หยุดๆ ต้องเบ่งช่วยเวลาถ่ายปัสสาวะ และถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจเกิดจากปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ สภาวะที่มีผลกระทบต่อสมองและการลดลงของแรงขับทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน เป็นต้น
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (OAB) เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวเพื่อขับถ่ายน้ำปัสสาวะออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือน และในเวลาที่คุณไม่ตั้งใจที่จะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือบางครั้งอาจมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา อาการของโรคระบบทางเดินปัสสาวะอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่คนทั่วไปสังเกตได้ คือ - มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อย ไหลๆหยุดๆ รู้สึกไม่สุด ออกน้อยหรือมากเกินไป
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปวดหลังหรือปวดบริเวณข้างลำตัว
- ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาล สีชมพู หรือสีขาวขุ่น
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนผิดปกติ
วิธีการรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นอยู่กับโรคที่ตรวจพบ จะมีวิธีรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนี้ - การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะมีแนวการรักษาหลักๆ คือการให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วันขึ้นอยู่กับชนิดของยา ร่วมกับการรักษาตามอาการหากจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และพยายามดื่มน้ำให้มากๆ
- การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากมีเป็นนิ่วขนาดเล็ก จะเน้นติดตามอาการ และให้ยาการใช้ยาควบคุมการเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ และการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อ หากจำเป็นต้องผ่าตัดแพทย์จะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การสลายนิ่วโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ESWL)
- การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะไปตามท่อไตเพื่อเอานิ่วในท่อไตออก (URSL)
- การส่องกล้องผ่านผิวหนังเพื่อขจัดนิ่วในไต (PCNL)
- การทำผ่าตัดแบบเปิด ในคนที่มีนิ่วขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผล (Open Surgery)
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนครธน
|