การทดลองเกิดขึ้นที่สถาบัน Md Abdullah al Noman ณ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา โดยนักวิจัยได้ให้ยาโมเลกุลชื่อ YCT529 แก่หนูเพศผู้ทุกวันในช่วง 4 สัปดาห์ และพบว่าจำนวนอสุจิของพวกมันลดลง และระหว่าง 4-6 สัปดาห์ หลังจากที่หนูหยุดรับการรักษา พวกมันสามารถสืบพันธุ์ได้ตามปกติอีกครั้งโดยไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งหลักการทำงานของยานี้คือตัวยาจะเข้าไปยับยั้งโปรตีนที่เรียกว่าตัวรับกรดเรติโนอิกอัลฟา (RAR-α) การยับยั้งโปรตีนนี้จะบล็อกผลกระทบของกรดเรติโนอิก ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเซลล์และการสร้างสเปิร์ม ทั้งนี้ ตัวยาจะไม่ใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีอาการซึมเศร้า และผลข้างเคียงอื่น ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการคุมกำเนิดนี้เพิ่งได้รับอนุญาตให้ได้ทดลองกับคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำการทดลองในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากโครโมโซมในสัตว์กับคนยังมีจุดที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพกับหนูถึง 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องพิจารณาสารประกอบอื่น ๆ ในตัวยาด้วยว่าจะสามารถเข้ากันได้ดีกับร่างกายมนุษย์หรือเปล่า
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากทำการทดลองได้สำเร็จก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับหนุ่ม ๆ ที่ต้องการแบ่งเบาภาระของผู้หญิงในการคุมกำเนิดได้เลยทีเดียว ทั้งยังสะดวกและปลอดภัยอีกด้วย