|
[size=1em]โรคหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) คือ หูดที่พบขึ้นบ่อยบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ “ฮิวแมน แปปิโลมา ไวรัส” (Human Papilloma Virus – HPV) โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ ในช่วงอายุ 17-33 ปี ทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า “หงอนไก่“, “หูดอวัยวะเพศ” หรือ “หูดกามโรคจากการเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่มาทำการรักษาคิดเป็นประมาณ 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
สาเหตุของหูดหงอนไก่
สาเหตุของการเกิดโรค : หูดหงอนไก่เป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้กว่า 200 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้น พบว่าประมาณ 90% เกิดจากสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ (ส่วนเชื้อชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV สายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้คือ สายพันธุ์ 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58)
การติดต่อของโรคหูดหงอนไก่ : ส่วนใหญ่โรคนี้มักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลักประมาณ 50-70% จึงมักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่ม และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่[3] ส่วนการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ฝารองนั่ง สระว่ายน้ำ ไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อหูดหงอนไก่ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ : โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาดหรือมีสุขนิสัยไม่ดี ได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย, ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน, ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหูดหงอนไก่มากขึ้น), ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (ชายรักชาย), คู่นอนมีการติดเชื้อหูดหงอนไก่, การถูกข่มขืนกระทำชำเรา (เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบโรคนี้ในเด็กจำเป็นต้องสืบหาเกี่ยวกับการถูกข่มขืนกระทำชำเราด้วย) ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (ผู้ที่ยังไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายจะมีการกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ช้ากว่า)
ระยะฟักตัวของโรคหูดหงอนไก่ : ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน – 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน[4] แต่ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยเมื่อผิวหนังได้รับเชื้อหรือติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการได้หลายเดือนหรือหลายปี เมื่อผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกได้เอง แต่มีส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรงก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อได
อาการของหูดหงอนไก่
การแสดงอาการ : คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา ซึ่งประมาณ 80-90% เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี[4] (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี จนเกิดเป็นเนื้องอกนูนออกมาอย่างที่เรียกว่า “หูดหงอนไก่” โดยในผู้ชายจะพบหูดหงอนไก่ได้น้อยกว่าในผู้หญิงมาก เนื่องจากลักษณะของผิวหนังที่อวัยวะเพศที่ไม่ค่อยมีซอกหลืบหรือความชุ่มชื้นมากเท่าของผู้หญิง
อาการของหูดหงอนไก่ : หลังจากเนื้อเยื่อติดเชื้อเอชพีวี (HPV) แล้ว ผู้ติดเชื้อนั้นอาจเป็นได้ทั้ง 3 กรณี กล่าวคือ รอยโรคหายไปได้เอง รอยโรคเป็นอยู่เท่าเดิม หรือรอยโรคเป็นมากขึ้น สำหรับรอยโรคที่เกิดหูดหงอนไก่นั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันหรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
ลักษณะของหูดหงอนไก่ : หูดจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระ ซึ่งจะเริ่มจากรอยโรคเล็ก ๆ แล้วขยายตัวลุกลามใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ บางชนิดอาจเป็นหูดชนิดแบนราบ มักพบได้ที่บริเวณปากมดลูก (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16), อาจเป็นหูดชนิดกลุ่ม ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3-4 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย มักเกิดขึ้นที่เดียวพร้อมกันหลายตุ่มและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16, 18) หรืออาจเป็นหูดก้อนใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศไว้ทั้งหมด บางคนอาจเรียกหูดชนิดนี้ว่า “หูดยักษ์” (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16) ลักษณะของรอยโรคจึงมีได้หลายรูปแบบทั้งขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป
ตำแหน่งที่พบหูดหงอนไก่ : เนื่องจากหูดหงอนไก่จะพบได้ตามเนื้อเยื่อของร่างกายชนิดที่สามารถสร้างเมือกได้ที่เรียกว่า “เนื้อเยื่อเมือก” (Mucosa) หูดชนิดนี้จึงชอบขึ้นในบริเวณที่อับชื้นและอุ่น โดยจะพบหูดหงอนไก่ได้ที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นหลัก ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องปาก ลำคอ หลอดลม เป็นต้น ถ้าในผู้ชายมักจะพบขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาตใต้หนังหุ้มปลาย หรือเส้นสองสลึง ส่วนน้อยอาจขึ้นตรงปลายท่อปัสสาวะ และอาจพบขึ้นบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ส่วนในผู้หญิงจะพบขึ้นที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ในช่องคลอด หรือปากมดลูก รวมไปถึงทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ และหากปล่อยไว้ อาจเกิดการลุกลามเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือตามง่ามขาได้ และในผู้ป่วยรายเดียวกันอาจพบว่าเกิดได้ในหลาย ๆ ตำแหน่งได้ เช่น หากผู้ป่วยมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะพบรอยโรคได้ที่อวัยวะเพศแล้วยังอาจพบรอยโรคได้ในทวารหนักอีกด้วย
สาเหตุการเกิดซ้ำ : เนื่องจากไวรัสเอชพีวีจะไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป รวมทั้งไม่ทำให้เกิดการอักเสบ การติดเชื้อจึงมักถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุซึ่งไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง จึงไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อไวรัสได้มากพอที่จะเกิดภูมิต้านทานขึ้นเหมือนโรคอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก ไฝ โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่
ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้ (การติดเชื้อเหล่านี้ร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้แพทย์ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ ตามแต่กรณีหากสงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีรอยโรคหรือยังไม่เห็นเป็นก้อนหูด แพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้
วิธีรักษาหูดหงอนไก่
ด้วยโครงสร้างของเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้เชื้อนั้นไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสิ่งแวดล้อมที่เชื้ออาศัยอยู่ได้ แพทย์จึงสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้ด้วยการใช้ความร้อนจัด ความเย็นจัด หรือใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหูดที่มีขนาดเล็กย่อมรักษาได้ง่ายกว่า โดยพบว่าถ้าหูดมีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางเซนติเมตรก็มักจะรักษาด้วยยาได้สำเร็จ แต่ถ้าหูดมีขนาดใหญ่กว่านั้นก็อาจจะต้องเลือกใช้วิธีอื่นในการรักษาแทน
ส่วนประสิทธิภาพในการรักษาแต่ละวิธีก็แตกต่างกันไปและทุกวิธีก็มีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดการรักษา เพราะพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 50-70% ที่ได้รับการรักษาจนหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังหนึ่งปี ทั้งมาจากการติดเชื้อซ้ำใหม่หรือจากการกลับมาเป็นซ้ำจากเชื้อเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ในบริเวณเดิม แต่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่ได้รับการรักษาให้หมดไปจากการรักษาในครั้งแรก และโดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งจะดื้อต่อการรักษาและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
เป้าหมายในการรักษาโรคหูดหงอนไก่ คือ เพื่อความสวยงาม เพื่อบรรเทาอาการ และลดความกังวลใจของผู้ป่วย ส่วนวิธีในการรักษาก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบการใช้ยาหรือการใช้อุปกรณ์เพื่อกำจัดหูดออกไป แพทย์เป็นผู้ทำให้หรือให้ผู้ป่วยทำเอง หากสงสัยว่าตนเองเป็นหูดหงอนไก่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเพื่อตรวจแยกโรคนี้ออกจากโรคอื่น ถ้าพบว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง แพทย์อาจให้การรักษาโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้*
ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือแสบบริเวณที่ทายาได้ แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีนี้เกิน 2 เดือนแล้วยังไม่หายควรเปลี่ยนไปใช้วิธีการรักษาแบบอื่นแทน (ยานี้ห้ามใช้ในหูดหงอนไก่ที่ขึ้นบริเวณปากมดลูกหรือภายในช่องคลอดและห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-35%)
ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการแสบและระคายเคืองตรงรอยโรค หรือเป็นแผลมีเลือดออกได้ ถ้ารักษาด้วยวิธีนี้ติดต่อกันเกิน 6 ครั้งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่น (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ และการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 35%)
ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้ (ยานี้ห้ามใช้ในหูดหงอนไก่ที่ขึ้นบริเวณปากมดลูกหรือภายในช่องคลอด และห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20%)
ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ โดยตัวยาจะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ ในระหว่างการใช้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อย (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป)
รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล แต่มีข้อเสียคือ ควันที่เกิดจากการจี้ในระหว่างการรักษาจะมีเชื้อเอชพีวี (HPV) อยู่ หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อเอชพีวีในทางเดินหายใจได้ (การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 5-50%)
รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-40%)
รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด มักใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือในรายที่เป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-40%)
รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage)
หากคู่นอนมีอาการของหูดหงอนไก่ ควรพามาพบแพทย์และรักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำไปมาซึ่งกันและกันหลังการรักษา หรือหากไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหงอนไก่หรือไม่ก็ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โอกาสที่จะติดจากทางอื่นนั้นมีน้อยมาก แต่ถ้าผู้อื่นหรือคนในครอบครัวมีรอยโรคที่ต้องสงสัยก็ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่คนอื่น ๆ ภายในครอบครัว
การดูแลตนเองในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่
ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
หมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรคอยู่เสมอ
งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา แต่หากมีความจำเป็นก็ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เป็นประจำ และหากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์
รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ครบถ้วน เช่น การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด, งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และการสำส่อนทางเพศ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น
ในรายที่มีหูดหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ ควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือไม่
ในผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษามีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
สำหรับการจะใช้วิธีรักษาใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อาการของโรค (ขนาดและจำนวนของหูดหงอนไก่), ตำแหน่งที่เป็น, ภาวะตั้งครรภ์, ค่าใช้จ่ายในการรักษา, ผลข้างเคียงของการรักษา, การเดินทางของผู้ป่วย, ประสบการณ์ของแพทย์ และดุลยพินิจของแพทย์ (ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยเป็นหูดชนิดราบที่อวัยวะเพศ ในครั้งแรกแพทย์อาจทดลองรักษาด้วยการทาครีมอิมิควิโมดก่อน หากพบว่ากลับมาเป็นซ้ำอีก แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาไปใช้วิธีการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) หากผู้ป่วยเป็นหูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาทาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) เนื่องจากมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่หากผู้ป่วยเป็นหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยเลเซอร์ (Laser ablation) ก่อน เป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นหูดหงอนไก่ที่ดื้อต่อการรักษาหรือเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมหลายครั้ง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดต่อไป เป็นต้น)
หมายเหตุ : การรักษาหูดหงอนไก่ทุกวิธีที่กล่าวมาจะต้องรักษาโดยแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารักษาเอง (ยกเว้นครีมอิมิควิโมดและโพโดฟิลอกซ์ที่ได้จากแพทย์) เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เกิดแผลต่อเนื้อเยื่อปกติรอบ ๆ รอยโรคอย่างรุนแรงได้ และก่อนทายาทุกครั้ง ผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ เพราะหลังจากทาแล้วไม่ควรให้รอยทายาถูกน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงของโรคหูดหงอนไก่
นอกจากลักษณะของรอยโรคที่ไม่น่ามองแล้ว สำหรับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เช่น สายพันธุ์ 16, 18 ยังอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และมะเร็งทวารหนักได้ด้วย ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรค เช่น อาจมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีหูดภายในปากมดลูก
ในหญิงตั้งครรภ์ หูดหงอนไก่อาจโตขึ้นจนขวางทางคลอดจนทำให้เด็กคลอดออกมาลำบาก หรือเชื้ออาจเข้าไปในปากหรือคอของเด็กในขณะคลอด ทำให้เกิดหูดในกล่องเสียงซึ่งมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่เสียงแหบไปจนถึงมีการอุดกั้นของกล่องเสียง ทำให้เด็กออกเสียงหรือหายใจไม่ได้
ในกลุ่มชายรักชายจะพบหูดหงอนไก่รอบทวารหนักหรือในทวารหนักได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งการรักษาในตำแหน่งดังกล่าวจะทำได้ยากมาก เพราะไม่ว่าจะใช้ยาหรือใช้วิธีการผ่าตัด หูดหงอนไก่ก็มักจะเกิดซ้ำได้บ่อย การได้รับการรักษาหลายครั้งจึงอาจทำให้เกิดทวารหนักตีบและมีปัญหาในการขับถ่ายตามมาได้ ส่วนก้อนที่อยู่ลึกเข้าไปในทวารหนักอาจโตมากจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ในบางครั้งอาจมีเลือดออกหรือบิดขั้วจนต้องผ่าตัดฉุกเฉินหรือต้องดมยาสลบ นอกจากนี้ยังมักพบการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 ร่วมด้วยอยู่บ่อย ๆ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทวารหนักได้
เกิดหูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ (Recurrent Respiratory Papillomatosis – RRP) คือ ตั้งแต่โพรงจมูกลงไปจนถึงถุงลมในปอด มักพบได้มากที่สุดที่กล่องเสียง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบหรือเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจนเสียชีวิตได้ ในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อจากแม่ในระหว่างการคลอดตามที่กล่าวมา ส่วนในผู้ใหญ่มักพบว่าเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก แม้ภาวะนี้จะเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย (พบได้ประมาณ 1-4 ต่อประชากร 100,000 คน) แต่หากเกิดแล้วจะสร้างความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการรักษาที่เรื้อรังและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เพราะในผู้ใหญ่มักจะลงเอยด้วยการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนหูดเพื่อช่วยเรื่องทางเดินหายใจ ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะทำได้ยากมากตั้งแต่ขั้นตอนการดมยาสลบ ที่ผู้ป่วยอาจขาดอากาศหายใจได้เป็นบางช่วง นอกจากนี้ตามธรรมชาติแล้วรอยโรคก็มักจะกระจายไปทั่ว จึงทำให้ไม่สามารถกำจัดออกหมดได้ภายในครั้งเดียว และอาจต้องได้รับการผ่าตัดมากกว่า 5 ครั้งในชีวิต ส่วนในเด็กมักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยเฉลี่ย 4.4 ครั้งต่อปี รวมแล้วประมาณ 19.7 ครั้งในช่วงชีวิต จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาคือแผลเป็น เป็นผลทำให้หลอดลมตีบและหายใจได้ลำบากในระยะยาว
วิธีป้องกันหูดหงอนไก่
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถช่วยป้องกันและรักษาหูดหงอนไก่ได้อย่าง 100% (เนื่องจากหูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก คือ ติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง) แต่เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
2.หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี (สาเหตุที่ถุงยางอนามัยอาจป้องกันหูดหงอนไก่ได้ไม่เต็มที่ นั่นเป็นเพราะว่าเชื้อเอชพีวีมักจะกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นบริเวณที่ถุงยางอนามัยครอบคลุมไม่ถึงนั่นเอง)
3.เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้หายก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หรือการติดต่อสู่ผู้อื่น
4.ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ HPV 6, 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 90% และ HVP 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% วัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 ได้ประมาณ 99% หากฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้น จึงแนะนำให้ฉีดได้ทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยต่อไปและมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน เนื่องจากวัคซีน HPV 6, 11 นั้น สามารถป้องกันโรคนี้ได้ 90% ของผู้ติดเชื้อเฉพาะที่เกิดจาก HPV 6, 11 เท่านั้น (ส่วนการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก HPV 16, 18 นั้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนทำให้มีภูมิคุ้มกันไปแล้ว แต่ก็ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำด้วย เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีอยู่หลายชนิด และอาจไม่ได้เกิดจาก HPV 16, 18 เพียงอย่างเดียว)
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเอชพีวี
จากข้อมูล
ที่มีการใช้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์หลักทั่วโลก มีรายงานผลข้างเคียงที่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงและพบได้น้อยมาก ๆ โดยจากการฉีดวัคซีน 100,000 เข็ม พบว่าจะมีคนเป็นลม 8.2 ราย, มีอาการบวมแดงในตำแหน่งที่ฉีดยา 7.5 ราย, วิงเวียนศีรษะ 6.8 ราย, คลื่นไส้ 5 ราย, ปวดศีรษะ 4.1 ราย, มีปฏิกิริยาไวต่อยา 3.1 ราย และเกิดผื่นลมพิษ 2.6 ราย
สรุป หูดหงอนไก่แม้เป็นโรคที่ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก รวมทั้งผู้ป่วยต้องเสียเงินและเสียเวลาในการรักษามากมาย แม้การรักษาจะทำได้ไม่ยากแต่ก็มักไม่หายขาด เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกประมาณ 30-70% หลังจากหยุดการรักษาไปแล้ว 6 เดือน แต่ในปัจจุบันมีวิธีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อนโดยการฉีดวัคซีนไวรัสเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์หลัก
ขอขอบคุณเนื้อหาสาระจาก
https://www.mplusthailand.com/
|
|